วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จิตวิทยาในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

จิตวิทยาในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

ในการสอนนั้นครูจะต้องรู้จักพื้นฐานของเด็กนักเรียนแต่ละคน ซึ่งนักเรียนแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ตลอดจนลักษณะนิสัย ครูจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจเด็กแต่ละคน ในการเรียนการสอนครูจะต้องรู้ถึงความรู้สึกของนักเรียนอยู่เสมอ จะต้องมีปฏิภาณเพื่อที่จะนำนักเรียนได้
การฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ ครูควรจะให้นักเรียนฝึกหลาย ๆ ครั้ง และฝึกหลาย ๆ ด้าน ของแต่ละทักษะและที่สำคัญในการฝึกไม่ควรให้ซ้ำซากจนน่าเบื่อ ควรจะฝึกเพื่อให้เกิดทักษะหรือความชำนาญ เพื่อให้นักเรียนเกิด ความชำนาญควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาที่สำคัญ ๆ เป็นอันดับแรกก่อนที่จะเริ่มสู่ขั้นตอนต่าง ๆ
การถ่ายทอดการเรียนรู้ นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้เมื่อนักเรียนสามารถระลึกถึงเรื่องที่เคยเรียนรู้มาแล้วในอดีตครูจะต้องช่วยนักเรียนให้จำลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และเข้าใจหลักการ สูตร ทฤษฎี คุณสมบัติต่าง ๆ เป็นอย่างดี ก่อนที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ต่อไป และในการเรียนครูควรสร้างให้นักเรียนเกิดความคิดรวบยอดเองแล้วนำ ไปสู่ข้อสรุปต่าง ๆ ได้
การสอนกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ในวิชาต่าง ๆ จะเน้นกระบวนการเรียนรู้ในวิชานั้นมากกว่าจะเน้นเนื้อหาในวิชา เช่น การสอนเรื่องการคูณ จะต้องให้นักเรียนรู้ว่าที่มาของการคูณนั้นมาจากการบวก ดังนั้น การคูณจึงสามารถใช้การบวกมาแก้ปัญหาได้และครูจะต้องสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการที่จะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน

- ทฤษฎีของเพียเจต์ จะนำไปสู่การสอนในระดับประถมศึกษา โดยให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียนนั้น ควรจะเป็นการสอนจากกิจกรรมและรูปธรรมให้มากกว่าการสอนที่ต้องจำและเข้าใจสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม เพื่อที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียน
- ทฤษฎีพัฒนาการของอีริคสัน จะเห็นได้ว่าถ้ามนุษย์มีประสบการณ์ในชีวิตที่ดีก็จะมีพัฒนาการทางบวก เช่น มีความเชื่อถือไว้ใจ ความเป็นอิสระ ความริเริ่ม แต่ถ้ามีประสบการณ์ที่ไม่ดีก็จะมีพัฒนาการทางลบ เช่น ความไม่เชื่อถือไว้ใจ หรือความรู้สึกผิด
สำหรับการสอนในชั้นประถมศึกษา เด็กจะอยู่ในระดับวัย 6 – 12 ปี ซึ่งกำลังพัฒนาความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานหรือความรู้สึกด้อยในความสามารถ ความรับผิดชอบจะเกิดขึ้นถ้าเด็กมีประสบการณ์ทางด้านความสำเร็จ เช่น สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง แก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ถูกต้อง แต่ถ้ามีประสบการณ์ของความไม่สำเร็จ เช่น ทำไม่ดี ถูกดุ ถูกตี เด็กจะเกิดความรู้สึกด้อยในความสามารถ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจภายหลัง เช่น พยายามหาทางเด่นในทางที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้นครูจึงจะต้องหาวิธีช่วยให้เด็กมีความสำเร็จในการเรียนตามระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน
สำหรับการสอนในชั้นมัธยม เด็กจะอยู่ในระดับวัย 12 – 18 ปี เป็นระยะที่เด็กค้นหาตนเอง ครูมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ค้นพบตนเองว่ามีความถนัด ความสามารถ และความสนใจในด้านการศึกษาแบบใด ครูควรใช้วิธีการฝึกกระบวนการคิดหาเหตุผล การแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กเกิดความคิดและเข้าใจแห่งความรู้นั้น ๆ เด็กวัยนี้มีวุฒิภาวะทางเพศสามารถเป็นพ่อแม่คนได้ ครูจึงควรปลูกฝังค่านิยมไม่ล่วงล้ำทางเพศให้แก่เด็กได้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น